Cloud Atlas : สรรพสิ่งสัมพันธ์ ธรรมชาติที่ถูกละเลย

มีคนบอกว่าถ้าเราอยากเจอสิ่งดีๆ ก็ควรอยู่สถานที่ที่ดี

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเรื่องวุ่นวายหลายครั้งครา บางครั้งเราก็อยากหลบจากความคิดในใจที่โหวกเหวกเซ็งแซ่เต็มหัวนั้น สถานีลี้ภัยที่ชอบไปมากทีสุดในกรุงเทพ ตอบได้ว่าเป็นสวนโมกข์กรุงเทพหรือหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ เป็นที่ที่สงบ ลมเย็นกำลังดี ทิวทัศน์น่ามองสบายสายตา ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงการปฏิบัติธรรม หรือ เข้าค่ายรักษาศีลอะไรทำนองนั้น

ถ้าเป็นที่เชียงใหม่นี่ผมคุ้นกับวัดอุโมงค์ ใกล้ที่พักและมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน

สิ่งสะดุดใจผมจากการไปชำระคราบโคลนในใจ หลังจากวันก่อนหน้าที่เมามายไร้สติก็คือ ห้องน้ำ

ลองนึกภาพห้องน้ำในผับบาร์กลิ่นฉุน ผู้คนขวักไขว่ ควันอบอวลคลุ้งคละ ชื้นแฉะ บ้างสะอาดบ้างไม่สะอาดตามฐานะและระดับหน้าตาของร้าน

ทันใดที่ก้าวเข้าไปห้องน้ำที่สวนโมกข์กรุงเทพ เกิดความคิดขึ้นว่า ทำไมคนชอบอยู่ในที่แบบนั้น เหตุใดที่ที่สบายกว่า สะอาดกว่า แบบนี้ถึงไม่ค่อยมีคนมานัก

ขยับภาพมุมกว้างออกมาอีกหน่อย เสียงครึกครื้นเครง ผู้คนคุยกัน บ้างด่าทอ บ้างมีคำหยาบ บ้างโรแมนติก บทสนทนาที่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งจะจำกันได้หรือไม่ เสียงรินทองคำเหลวไม่ขาดสาย ควันคละกลิ่นยังคงเริงระบำกระเจิงแสงในอากาศ ดนตรีขับกล่อม บ้างขับดันแรงปรารถนาในหัวใจ บางคนนิ่งงัน บางคนเผลอยิ้ม บางคนหัวเราะร่าเริง เงินเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้สภาพร่างกายที่ต้องรับใช้ค่ำคืนอันเปลี่ยวเหงาสำหรับบางคน

ผมชอบมองออกในสระน้ำที่ห้อมล้อมสวนโมกข์ฯ คิดขอบคุณสถาปนิกยอดฝีมือ บริเวณนั้นมีที่นั่งพักเป็นก้อนหินปลอม ตรงสวนมีรูปสลักเกี่ยวกับประวัติศาสนาพุทธให้ศึกษากันไม่คิดสตางค์ ลมพัดเอื่อยๆ มาเป็นระลอกๆ เอาแน่นอนไม่ได้ น้ำพุที่ผุดพุ่งละอองกระจายแสงธรรมดาให้หลากสี มีนกบินแบบที่เราเคยวาดประดับดวงอาทิตย์กันสมัยประถม มีร้านอาหารที่เปิดบางวัน แล้วก็ไม่มีคนล้างจานให้ กินแล้วต้องจัดการเอง ทั้งซ้ายและขวามีแต่คนเตือน หนังสือธรรมะมีอยู่ถมเถให้ซื้อกลับไปอ่านที่บ้าน ถ้ายังไม่ซื้อก็เอาไปนั่งอ่านฟรีๆ กันได้ มีที่ให้นั่งพักหลบมุมอยู่ในนั้น

สำหรับใครที่จะหาว่าเปรียบเทียบเกินไป กล่าวลำเอียงแล้วเอียงอีกก็ว่าได้ ยินดีรับคำติชม ไม่โมโหโกรธกันแน่นอน จะพยายาม

เริ่มเข้ามาเรื่องที่เกี่ยวกับหนัง ที่เป็นที่มาของหัวข้อวันนี้ บอกไว้ก่อนว่าเค้านิสัยเดิมของผมเรื่องหนังคือไม่ชอบดูหนังที่ไม่ได้ดูตั้งแต่เริ่มเรื่อง และข้อสังเกตที่สองคือยังไม่เคยมีเรื่องไหนอยากดูซ้ำในทันทีที่ยังดูไม่จบ (เท่าที่จำความได้)

ล่าสุดเวลาเดียวกับที่หลายย่อหน้าที่แล้วระบุไว้ ผมได้เผลอไปดูหนังที่มีฉายฟรีในโครงการ "ดูหนังหาแก่นธรรม" ที่ฉายที่สวนโมกข์ฯ เหตุผลข้อที่หนึ่งคือฟรี ข้อที่สองคือไม่รู้จะไปทำอะไรต่อ หาที่นั่งพักแก้เมาค้างที่ยังทรงอาการเดิมไม่หายแม้เป็นเวลาเย็นแล้ว

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูหนังที่ไปดูกลางคัน เค้าฉายไปไม่รู้กี่นาทีแล้ว แค่ดูไปสิบนาทีก็มีความรู้สึกต้องไปหาดูอีกเป็นครั้งที่สองแน่

โครงเรื่องหลักของหนังในภาษาอังกฤษคือ "Everything is connected" ผมให้ความหมายว่า "สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์" ก่อนหน้านี้ผมมีความรู้เรื่องหลักในธรรมะอยู่บ้าง พอเข้าใจศัพท์หรือกฎพื้นฐาน พออธิบายได้ถ้าใครมาแสดงความสงสัย แต่อย่าเรียกว่าเข้าใจเลย เรียกว่ารู้เฉยๆ หน่ะถูกแล้ว

หนังแสดงให้เห็นถึงเรื่องย่อยหกเรื่องที่ดำเนินไปในแต่ละช่วงเวลาที่ห่างกัน จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง หนังตัดภาพไปมาในแสดงเหตุการณ์ในแต่ละยุค คนไม่ชินอาจเวียนหัวและโทษคนตัดต่อได้

น้ำตาผมอาบแก้มในความมืดที่มีเพียงสว่างแสงจากจอหนังนั้น เมื่อถึงจังหวะหนึ่งที่ผมเริ่มรู้ถึงความหมายของการเกิด การกระทำที่ผ่านมา อะไรที่ดลบันดาล

อะไรที่ขับเคลื่อนชีวิต อะไรที่พาเรามาถึงจุดนี้ ภาพดาวนับล้านในจักรวาล เราเป็นเสมือนเกลียวโซ่หนึ่ง ที่ถูกกาลเวลาขับเคลื่อนไปวนตามเฟืองวงกลมไม่รู้จบ

ผมเคยสงสัยว่าใครจะบันทึกทั้งสิ่งดีหรือเลวที่เราทำลงไป เขาคนนั้นบันทึกไว้ที่ไหน บันทึกหมดทั้งโลกได้พอเหรอ แล้วก็พบคำตอบระหว่างปั่นจักรยานว่า มันอยู่ในนี้แหละ มันบันทึกในใจเรานี่เอง แม้จะข้ามกาลเวลาแสนไกล ข้ามอารยธรรม แม้กระทั่งข้ามดวงดาวกันก็ตาม ไม่มีทางที่ตัวเองจะหนีตัวเองไปได้

ซอนมีตัวละครหลักตัวหนึ่ง เป็นผลผลิตจากเทคโนโลยีโคลนนิ่งขั้นสูง มีชีวิตที่บางคนเรียกได้ว่าเป็นแค่สิ่งของ ได้กล่าวว่า

Our lives are not our own. From womb to tomb, we are bound to others. Past and present. And by each crime and every kindness, we birth our future.

แปลบ้านๆ

ชีวิตเราไม่ใช่ของเรา จากครรภ์สู่เชิงตะกอน เราเกี่ยวดองข้องกัน ทั้งอดีตและปัจจุบัน ทุกการกระทำ ทุกความผิดที่ก่อ ทุกความดีที่สร้าง เราก่อกำเนิดอนาคตของเรา

นี่ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ความจริงนี้ผมว่าจริง เพราะเจอมากับตัวแล้ว ใช่ฟังกันต่อมาดื้อๆ สังเกตว่าธรรมชาติของสรรพสิ่งช่างธรรมดาเหลือเกิน ธรรมดาเสียจนที่ไม่น่าไปใส่ใจ ทำอย่างหนึ่งจะได้ผลอีกอย่างโดยไม่มีตัวแปรอื่นมาเกี่ยวข้องนี่หาไม่ได้ นี่เท่าที่เรียนมาในวิชาฟิสิกส์

เปลี่ยนมาอีกฉากชนเผ่าของ Zachry ถูกทอดทิ้งอยู่ในโลกปุพัง ผู้มีอารยะย้ายหนีไปหลังจากทำมันพังด้วยตัวเองเมื่อนานมาแล้ว เขาระบายความสงสัยกับ Meronym ผู้มีอารยะและเครื่องมือไฮเทค ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่ามาทำไม แล้วมีปัญหาอะไร แต่จำบทสนทนาบททองนี้ได้แม่นยำ

Zachry: That's just a rope o'smoke. Old Uns got the Smart. They mastered sick and seeds, they make miracles and fly across the sky.

Meronym: True. All true. But they got somethin' else. A hunger in their hearts, a hunger that's stronger than all their Smart.

Zachry: Hunger? For what?

Meronym: A hunger for more.

Zachry: บรรพชนฉลาดล้ำเลิศ ควบคุมความป่วยไข้ เป็นนายพืชพรรณ สรรสร้างปาฏิหารย์ บินโฉบเฉี่ยวเหนือฟ้า

Meronym: จริง ล้วนจริง แต่เขามีอย่างอื่นนะ ความอยากในใจพวกเขา ความอยากที่ก้าวล้ำไกลเกินปัญญา

Zachry: ความอยาก? อยากอะไร?

Meronym: ความอยากได้ไม่สิ้นสุด

(ในหนังแปล hunger ว่า กิเลศ)

จะว่าไปหนังนี้สะกิดให้นึกถึงคำสอนในศาสนาพุทธหลายสิ่ง ทั้งเรื่องกรรมและเรื่องปัญญา มีครั้งหนึ่งผมสงสัยไอน์สไตน์ว่าฉลาดขนาดไหนกันหนอ ถ้าฉลาดที่สุดในโลกไม่นับกาลเวลาในใจผมนึกถึงพระพุทธเจ้า จนไปเจอข้อความที่ไอน์สไตน์บอกเป็นสมการว่า

More the knowledge lesser the Ego. Lesser the knowledge, more the Ego

ความรู้มากอัตตาน้อย ความรู้น้อยอัตตามาก

เทียบกันแล้วในแบบพุทธก็คงประมาณว่า เมื่อมีปัญญาครบพร้อมแล้ว ขจัดอวิชชาสิ้นแล้ว ความเห็นแก่ตัว อัตตาทั้งหลายก็หายไป ไอน์สไตน์คงไม่ถึงขนาดนั้นแต่ผมทึกทักเอาเองว่าไอ้สมการที่ลุงคิดได้เนี่ย เข้าฌาณแล้วมันปิ๊งมารึเปล่า

สำหรับค่ำคืนนี้ รู้สึกว่าพอเท่านี้เป็นน้ำจิ้มดีกว่า อยากให้คนที่ยังไม่เคยดูได้ดู ส่วนตัวผมเองก็เพิ่งได้ดูในวันที่ตัวเองไม่คิดว่าอยากดู แต่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะเหลือเกิน ถ้าได้ดูในวันที่หนังออกอาจไม่ซาบซึ้งถึงเพียงนี้ก็ได้ ตัวหนังไม่ได้สมบูรณ์แบบถึงขั้นขึ้นเหลา อาจเป็นเพียงขนมจีบข้างทาง ที่ชักชวนให้มองไปในแววตาป้าแม่ค้าที่คุยโทรศัพท์กับสามีเรื่องค่าเทอมลูกสาวตัวเล็กอยู่ ขนมจีบอาจจะไม่อร่อย แต่มีอะไรให้เก็บกลับเอาไปนอนคิดแน่ๆ

ราตรีสวัสดิ์